ไฟไอติมคืออะไร? ติดไประวัง ‘ใบสั่ง’ อาจมาถึงบ้าน

ประสบการณ์ใช้รถ | 19 ต.ค 2560
แชร์ 2

หลายคนคงเคยเห็นหรือต้องปวดหัวเวลาขับตามรถที่ติด ‘ไฟท้าย’ สีสันแสบตา มากมายหลายสี ที่เรียกกันว่า ’ไฟไอติม’ รบกวนทรรศนะวิสัยต่อผู้ใช้รถคันอื่นๆ ล่าสุดมีกฎหมายจราจรออกมาให้ผู้ที่เห็นหรือขับตามรถที่ติดไฟดังกล่าว สามารถถ่ายรูปและส่งให้กรมขนส่งฯ ดำเนินการตามกฎหมายได้แล้ว

ไฟไอติมติดไประวัง ‘ใบสั่ง’ อาจมาถึงบ้าน

ไฟไอติมติดไประวัง ‘ใบสั่ง’ อาจมาถึงบ้าน

 

ไฟท้ายหลากสีสันที่นิยมเรียกกันว่า ‘ไฟไอติม’ นี้เป็นที่นิยมในหมู่นักแต่งรถที่ต้องการเพิ่มความสวยให้กับรถของตัวเอง การเปลี่ยนหลอดไฟด้วยตัวเลือกสีสันมากมาย และระดับความสว่างที่มากขึ้นเกินมาตรฐานที่รถเดิมจากโรงงานกำหนดมา เพื่อให้เกิดความต่าง ดูเท่ จนลืมคิดไปว่าอาจทำให้ผู้อื่นที่ใช้รถใช้ถนนร่วม ต้องเดือดร้อน เรื่องสีสันอาจไม่เท่าไรแต่ความสว่างที่ ‘จ้า’ มากเกินไปจนแยงสายตาผู้ขับตาม จนอาจต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ทำให้รถที่ติดอุปกรณ์ตกแต่งชิ้นนี้ถูกขึ้นบัญชีดำ ต่างเป็นที่หมายตาจากเหล่าคุณตำรวจจราจร แม้ไม่ต้องมีดุลยพินิจมากมาย แต่ก็เป็นข้อหาที่น่าถูกจับเพราะทำให้คนอื่นเดือดร้อน
 

‘ไฟไอติม’ สวยแต่เดือดร้อนผู้อื่นที่ขับตามด้านหลัง

‘ไฟไอติม’ สวยแต่เดือดร้อนผู้อื่นที่ขับตามด้านหลัง
 

ไฟไอติมที่ถูกเรียกกันนี้ มาจากลักษณะของตัวหลอดที่รูปทรงคล้ายกับไอติม แต่ผลลัพธ์ที่ไฟชนิดนี้สาดส่องออกมาอาจไม่ค่อยหอมหวานเหมือนชื่อต่อผู้ใช้รถคันอื่นสักเท่าไร มีทั้งหลอด LED และธรรมดา ขั้วหลอดสามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั่วไปได้ทุกรุ่น สีสันละลานตาให้เลือกหลากหลาย ทั้ง ม่วง, เขียว, ชมพู, ส้ม, ฟ้า, น้ำเงินและขาว ฯลฯ อีกทั้งเรื่องความสวย แฟชั่น ความนิยม หาซื้อได้ไม่ยาก ราคาไม่แพง ด้วยเหตุผลมากมายจึงทำให้เห็นรถที่ติดไฟไอติมนี้มีเกลื่อนเต็มถนนไปหมด

 

หน้าตาของหลอดไฟไอติม มีสีสันมากมายให้เลือก แต่ไม่ว่าสีไหนก็ผิดกฎหมายอยู่ดี

หน้าตาของหลอดไฟไอติม มีสีสันมากมายให้เลือก แต่ไม่ว่าสีไหนก็ผิดกฎหมายอยู่ดี

 

ตามกฎหมายจริงๆ แล้วรถที่ทำการดัดแปลงแก้ไข สีของไฟท้าย นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดนั้นมีความผิด ตามพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ได้กำหนดเรื่องของไฟสว่างตามจุดต่างๆ ของรถเอาไว้ว่า ส่วนของไฟเลี้ยวด้านท้าย กฎหมายกำหนดให้ใช้ไฟสีเหลืองหรือสีแดงก็ได้ แต่ห้ามใช้สีขาวอย่างเด็ดขาด!!
 

เช่นเดียวกันกับห้ามใช้ไฟเลี้ยวด้านหน้าเป็นสีแดง เพราะอาจทำให้ผู้ใช้รถรายอื่นสับสนกับสีของไฟได้ ด้วยไม่รู้ว่าเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังของรถ กฎหมายจึงต้องกำหนดสีของไฟแยกหน้า-หลังไว้ชัดเจน ส่วนไฟท้ายและไฟเบรกต้องเป็นสีแดงเท่านั้น ไฟเบรกจะสว่างขึ้นเมื่อผู้ใช้รถเหยียบเบรค และที่สำคัญจะสว่างแบบกระพริบถี่ๆ ก็ไม่ได้ ซึ่งรถคันที่ติดไฟไอติมหลายคันก็มีที่ตั้งค่าไฟไว้ลักษณะดังกล่าวยิ่งทำให้รบกวนผู้ใช้รถคันอื่นหนักเข้าไปอีก
 

โดยล่าสุดปัญหาดังกล่าวก็มีวิธีการแก้ไขได้แล้ว โดยมีสมาชิกเว็บไซต์พันทิปท่านหนึ่งได้โพสข้อความเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับรถไฟท้ายกวนเมือง สามารถทำได้ไม่ยาก เพียงหยิบโทรศัพท์มาถ่ายรูปรถที่ไฟท้ายแสบตา ให้ในรูปติดป้ายทะเบียนชัดเจน และส่งรูปไปแจ้งเพื่อร้องเรียนให้ดำเนินตามคดีตามกฎหมายได้ ซึ่งเกิดคำถามจากผู้ใช้งานเว็บไซต์มากมายว่าจะทำได้จริงแค่ไหน

 

แต่ปรากฎว่าทำได้จริง เมื่อมีผู้โพสภาพเอกสารที่ติดภาพรถตัวเองถูกถ่ายจากด้านหลัง ตัวรถมีการดัดแปลงติดไฟไอติม ซึ่งตัวเอกสารถูกส่งมาจากกรมขนส่งฯ ออกหมายให้ไปเสียค่าปรับ 2,000 บาทและยังต้องนำรถเข้าไปให้กรมขนส่งฯ ตรวจสอบอีกด้วย ว่าทำการแก้ไขไฟท้ายให้กลับสภาพเดิมแล้วหรือยัง
 

แจ้งจริง จับจริง โดนจริง หมายเรียกจากขนส่งฯ เพราะติดไฟไอติมซึ่งผิดกฎหมาย

แจ้งจริง จับจริง โดนจริง หมายเรียกจากขนส่งฯ เพราะติดไฟไอติมซึ่งผิดกฎหมาย

 

ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดี ที่จะได้กำจัดพวกรถที่ปรับแต่งและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น เป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้ไม่ต้องตั้งด่านทำให้รถติดก็สามารถจับรถที่ทำผิดกฎหมายได้

 

ผู้ใช้รถทุกคนบนท้องถนนสามารถช่วยกันร้องเรียนเมื่อเห็นรถติดไฟดังกล่าว เพื่อให้รถที่ปรับแต่งผิดกฎหมายเดือดร้อนผู้อื่นลดน้อยลง ผู้กระทำก็ต้องยอมจำนนด้วยหลักฐาน โต้แย้งไม่ได้ ที่สำคัญช่วยลดปัญหาเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ดุลยพินิจที่ไม่มีมาตรฐาน จนทำให้ประชาชนเดือดร้อนที่หลายๆ คนเคยเจอ
 

เมื่อทราบถึงข้อเสียของไฟไอติมแล้วก็อย่าไปติดมันเลยดีกว่า ทำให้รถของคุณสวยขึ้นไม่มากเท่าไร ยังจะต้องเสียเงินซ้ำซ้อนทั้งค่าติดตั้ง วันไหนโดนถ่ายรูปร้องเรียนยังจะโดนค่าปรับถูกส่งตรงมาที่บ้านอีก เสียเวลาต้องนำรถไปตรวจสอบอีก มีแต่เสียกับเสียทั้งนั้นแค่คิดจะติดไฟประเภทนี้